0

การปลูกถ่ายไขกระดูก

2018-11-02 15:32:35 ใน Patient » 0 5479


การปลูกถ่ายไขกระดูก (bone marrow transplantation) ในเด็ก

พท.พญ.ชาลินี มนต์เสรีนุสรณ์

ไขกระดูก (bone marrow) คือเนื้อกระดูกที่มีน้ำใสๆ อยู่ภายในกระดูก มีหน้าที่สร้าง stem cell หรือเซลล์ตั้งกำเนิดที่จะเจริญไปเป็น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว  และเกร็ดเลือดตามมา จะเห็นได้ว่าถ้าไขกระดูกทำงานผิดปกติ ไม่สร้าง หรือสร้างเซลล์ต้นกำเนิดที่ผิดปกติไป สร้างได้น้อย  เราเรียกว่า ไขกระดูกฝ่อ (aplastic anemia) หรือสร้างมากเกินไป หรือสร้างปกติแต่ไม่มีการเจริญไปเป็นเม็ดเลือดต่างๆที่เป็นปกติ ก็ทำให้เกิดโรคต่างๆได้ เช่น leukemia เป็นต้น
 

     ดังนั้นการปลูกถ่ายไขกระดูก (bone marrow transplantation) หรือ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (hematopoietic stem cell transplantation) ข้อบ่งชี้คือ ผู้ป่วยต้องมีโรคที่มีการทำงานของไขกระดูกบกพร่อง ไม่ทำงาน หรือการสร้างไขกระดูกที่ผิดปกติ ดังที่กล่าวมาแล้ว ทีนี้ การปลูกถ่ายนั้น เราจะนำเซลล์ต้นกำเนิดมาจากไหน เราก็นามาจากผู้บริจาค (donor) คล้ายกับการบริจาคเลือดนั่นแหละ มีอยู่ 2 แหล่งหลักๆ คือ

     1. นำมาจากตัวของผู้ป่วยเอง (autologous donor) การปลูกถ่ายแบบนี้ เนื่องจากเรานำเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวผู้ป่วยเอง ดังนั้นโรคที่ใช้การปลูกถ่ายแบบนี้ได้ จะต้องเป็นโรคที่ไม่ใช่มีความผิดปกติที่ไขกระดูก แต่เราต้องการไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดของผู้ป่วยมาเพื่อเป็นการฟื้นฟูคนไข้ให้ไขกระดูกกลับมาทำงานเป็นปกติ หลักการคือเราต้องการทำการรักษาผู้ป่วยโดยการให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงมากๆๆๆๆ เป็น 10 เท่าของขนาดปกติ ดังนั้นเคมีบำบัดที่สูงมากๆ ก็จะทำให้ไขกระดูกผู้ป่วยไม่ทำงาน ไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดได้ กลายเป็นภาวะไขกระดูกฝ่อ (aplastic anemia) เราจึงต้องเอาไขกระดูกของตัวผู้ป่วยเองใส่เข้าไปภายหลัง เหมือนการเติมไขกระดูกกลับไปในกระดูกที่ว่างเปล่า ให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง โรคดังกล่าว เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma) มะเร็งต่อมหมวกไต (neuroblastoma) เป็นต้น

     2. นำมาจากผู้อื่น (allogenic donor) ซึ่งจะเป็นพี่น้องบิดามารดาเดียวกัน ที่มีไขกระดูกเข้ากันได้ (matched sibling donor) หรือจากสภากาชาดที่ประเทศไทย หรือธนาคาร stem cell จากต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน ที่มีไขกระดูกเข้ากันได้ (unrelated donor)
จริงๆแล้วเราใช้คำว่าไขกระดูก แต่จริงๆ เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (stem cell) ที่เราจะใช้มาปลูกถ่าย แหล่งที่จะใช้ ไขกระดูกเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่เราจะเอามาใช้ได้ แต่อีก 2 ที่ ที่เราจะนามาใช้ได้ คือ เลือด (peripheral blood) และจากรก (cord blood) ซึ่งไม่ใช่ว่าใช้จากที่ใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนักตัวผู้ป่วย โรคที่เป็น และที่สำคัญ ขึ้นกับตัวผู้บริจาคเป็นต้น เพราะไม่ว่าจะชนิดไหน ก็ต้องมีการเตรียมการที่ดี มีมาตรฐาน และต้องใช้ระยะเวลา เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด